👦Agile Methodology

🤔 คนเก่งๆเขาการจัดการโปรเจคยังไงให้มีประสิทธิภาพกันนะ ?

😢 ปัญหา

เบื่อไหมในการทำโปรเจคแต่ละรอบเราก็จะเจอแต่ปัญหาเดิมๆ ส่งงานไม่ทัน ทำงานไม่ตรงที่ลูกค้าอยากได้ ทำงานได้ช้ากว่าที่รับปากลูกค้าไว้ และอีกสารพัดปัญหาที่คอยตามหลอกหลอนในการทำโปรเจค แล้วเราจะแก้ปัญหาพวกนี้ยังไงกันดีนะ?

😄 วิธีแก้ปัญหา

ปัญหาที่ว่ามานั้นเกิดจาก "กระบวนการจัดการโปรเจค" ยังไงล่ะ ถ้าเราวางแผนจัดการมันได้ดีพอ ปัญหาที่ว่ามาก็จะลดน้อยลงมากเลยนะ และทีมที่ทำงานก็ไม่เครียดด้วย โดยในปัจจุบันกระบวนการบริหารจัดการโปรเจคที่เรานิยมใช้กันอยู่นั้น คือเจ้าสิ่งที่เรียกว่า Agile นั่นเอง (อะจาล เอจาล อะไจล์ เอไจล์ แล้วแต่จะออกเสียงเลยเอาที่สบายใจ)

หลุมพรางของ Agile หลักในการปฏิบัติของ agile นั้นอ่านแล้วดูเหมือนง่าย แต่ถ้าคนไม่เคยทำไปหัดลองทำส่วนใหญ่ 99% จะทำผิดหมดเลย และยิ่งถ้าไม่ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือที่เขาเรียกว่าทำจนเข้าเส้น ผมรับประกันเลยว่า สิ่งที่คุณทำอยู่มันไม่ใช่ agile

จากที่ร่ายยาวมาทั้งหมดผมอยากให้เพื่อนๆลองทำความเข้าใจในคอร์ส Agile ทั้งหมดนี่จริงๆจังเสียก่อนว่ามันคืออะไร แล้วย้อนกลับมาดูว่าที่กำลังทำอยู่มันใช่ agile หรือเปล่า? และ จริงๆแล้วเราควรจะใช้มันดีไหม? เพราะไม่อย่างนั้น เราก็จะบอกว่า Agile ห่วย ทั้งๆที่เราใช้มันอย่างไม่ถูกวิธีนั่นเอง (เหมือนกับเอาค้อนไปเลื่อยไม้ แล้วบ่นว่าค้อนมันกากไงงี้เลย)

👑 ทำความเข้าใจกันก่อน

บทความนี้เป็นคอร์สหลักเรื่อง Agile Methodology ดังนั้นเราจะแค่เกริ่นก่อนว่าความเป็นมาของ agile เป็นยังไง และจะค่อยลงลึกเรื่อยๆในแต่ละเรื่องว่า เราได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง และ ทีมควรปรับเอาเรื่องอะไรไปใช้บ้าง โดยจะใช้ Scrum เป็นตัวอย่างในการอธิบาย

ซึ่งผมขอเคลียก่อนว่าผมไม่ได้มาเพื่อที่จะบอกว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหน แต่ผมต้องการจะให้เห็นภาพใหญ่ว่า ตัวเลือกในการบริหารจัดการนั้นมันมีอะไรบ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้วเราก็อาจจะไปสร้างวิธีการจัดการของตัวเองออกมาก็ได้ เพราะบริษัทแต่ละที่ก็จะมีวัฒนธรรม ความชอบที่ไม่เหมือนกันนั่นเอง (ซึ่งในมุมมองผม ไม่ว่าจะเลือกวิธีจัดการแบบไหน agile ก็สามารถเข้าได้กับการทำงานทุกรูปแบบอยู่ดี)

🤔 Agile คืออะไร ?

เอาแบบเร็วๆเลยนะ ราวๆปี 2001 วงการ Software ได้มาถึงจุดที่น่าเป็นห่วง เพราะโปรเจคส่วนใหญ่จะพังลงเมื่อทำไปถึงจุดนึง ดังนั้นเหล่ามหาเทพระดับโลกที่คร่ำหวอดในวงการนี้ เลยนัดรวมตัวกัน มาเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาโลกแตกนี้อยู่หลายวัน (เทพแต่ละองค์โคตรหัวดื้อเลยจะบอกให้) จนสุดท้ายเหล่าทวยเทพก็ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงดี โดยได้ข้อสรุปที่เป็นหัวใจ 4 ข้อออกมาเรียกว่า Agile manifesto และ หลักในการปฏิบัติ 12 ข้อ หรือที่เราเรียกว่า 12 Principles of Agile Software จากที่ว่ามาเหมือนทุกอย่างจะจบลงได้ด้วยดี ... ซะเมื่อไหร่!! เพราะทั้งหมดที่ว่ามามันเป็นแค่หลักคิดแบบกลางๆเท่านั้น มันไม่ได้บอกเลยว่าต้องทำยังไง! ดังนั้นเทพแต่ละองค์ก็เอาหลักคิดนี้ไปสร้างเป็นการบริหารจัดการซอฟต์แวร์ของตัวเองต่อนั่นเอง!!

จากที่ร่ายยาวมา เราลองไปดูก่อนว่าข้อสรุปของเหล่าองค์เทพได้ทิ้งอะไรไว้ให้เรากันบ้าง

🤔 Agile Manifesto มีไรบ้าง ?

บทความนี้ศักสิทธิ์มากเลยอยากให้เพื่อนๆได้ลองไปอ่านของจริงดูจากลิงค์นี้ Agile Manifesto ซึ่งแปลออกมาก็ราวๆนี้

  1. คนและการมีปฏิสัมพันธ์กัน มากกว่าการทำตามขั้นตอนและเครื่องมือ

  2. ซอฟต์แวร์ที่นำไปใช้งานได้จริง มากกว่าเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์

  3. ร่วมมือทำงานกับลูกค้า มากกว่าการต่อรองให้เป็นไปตามสัญญา

  4. การตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการทำตามแผนที่วางไว้

เป็นยังไงบ้างซาบซึ้งในรสพระธรรมเลยใช่ไหม ... ก็อย่างที่บอกว่า มันเป็นแนวคิดอย่างเดียวเลย ไม่ได้บอกว่าต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งคือหัวใจหลักของมันมีแค่นี้จริงๆนะ ดังนั้นผมจะแปลให้ฟังใหม่ว่า

การทำ software มันต้องร่วมมือกันทำมันถึงจะสำเร็จ โดยให้เราเน้นไปที่เรื่อง

  1. เน้นให้คนแต่ละคนได้พูดคุยทำความเข้าใจกันในทุกๆเรื่องๆ ดีกว่าให้แต่ละฝ่ายคอยทำตามขั้นตอนที่วางไว้ 1234 ถ้าใครทำไม่ถูกโดนตัดหัว และอย่าไปสนใจเครื่องมือมากนัก (สังเกตได้จากงานราชกาลประเทศไรไม่รู้ ต้องทำตามขั้นตอนอืดอาดวุ่นวาย เพื่อที่ได้ดำเนินการกัน ทั้งๆที่เอ็งนั่งข้างๆกัน กินข้าวเที่ยงด้วยกันเนี่ยนนะ)

  2. เน้นให้เราทำซอฟต์แวร์ที่มันเอาไปใช้งานได้จริง มันแก้ปัญหาลูกค้าได้จริงๆ ดีกว่าไปไล่ทำตามเอกสารที่ลูกค้าเขียนไว้ 2,048 ข้อ (เหมือน TOR ของประเทศไรก็ไม่รู้ พูดแล้วมีโมโห พอทำเสร็จก็ส่งงานได้อยู่หรอก แต่ขนาดคนเขียนเองยังรู้เลยว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาของเอ็งหรอกคุณลูกค้าที่เคารพ)

  3. เน้นให้เรากับลูกค้าได้พูดคุยร่วมกันแก้ปัญหา เพื่อหาผลลัพท์ที่ดีที่สุดกับสถานะการณ์จริงของลูกค้า ดีกว่าไปต่อรองว่า อ้าวก็ลูกค้าบอกว่าอยากได้ไอ้นี่ ผมก็ทำไอ้นี่ตามสัญญาที่ว่าไว้แล้วนิ! ตามในหนังสือสัญญาเลยนะ ไม่เชื่อดูดิ!

  4. เน้นให้ทีมยอมรับในความเป็นจริง ว่าในวงการนี้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และทีมพร้อมที่จะเปลี่ยนเพื่อของที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากกว่า ดีกว่าไปยึดติดกับแผนที่วางไว้แล้ว ซึ่งมันอาจจะไม่ตอบโจทย์ลุกค้าแล้วก็ได้ (พูดให้เห็นภาพคือ มันถึงเวลานอนแล้ว แต่บ้านดันไฟไหม้ขึ้นมา คุณยังจะยึดแผนเดิมคือเข้านอนเหรอ?)

หัวใจหลักของ Agile จากที่เราเห็นเราก็จะค้นพบว่า หัวใจหลักในการแก้ปัญหาของ Agile คือการใช้เหตุผลและข้อเท็จจริงคุยกัน เพื่อช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดของเราและลูกค้านั่นเอง

🤢 Agile คือบ้าไรเนี่ย?

ก่อนที่จะไปต่อผมอยากให้เข้าใจก่อนว่า Agile มันมีแต่แนวคิด ไม่ได้บอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง ดังนั้นผมจะยังไม่พูดถึงหลักปฏิบัติ 12 ข้อว่ามีอะไรบ้าง เพราะไม่งั้นคนที่จะเหลือรอดอ่านบทความผมต่อคงจะเข้าใกล้ 0 เข้าไปเรื่อยๆ ดังนั้นเราไปดูกันก่อนว่า ถ้าเราใช้ Agile แบบถูกวิธีจริงๆเราจะได้อะไรบ้าง

🤔 ทำ Agile แล้วได้อะไร ?

ขอเขียนแบบรวมๆไม่ได้ไล่ความสำคัญแบบคร่าวๆละกันว่า

  • ทีมและลูกค้าไม่เครียด และ ต่างฝ่ายต่างเชื่อใจกันมากขึ้น

  • ทีมสามารถส่งงานได้ตามกำหนด และปรับแก้แผนงานได้

  • ทุกคนคุยกันช่วยกันทำงาน ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่เอาแต่รอรับคำสั่งรายวัน

  • งานที่เราส่งให้ลูกค้า เป็นของที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่แท้จริง

  • ทีมและลูกค้าสามารถวางแผนงานและค่าใช้จ่ายได้ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น

  • งานที่ทีมทำจะมีคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิม

  • ค่าใช้จ่ายลดลง ทั้งทีมและลูกค้าเลย

มันไม่ได้มีดีแค่นี้หรอก แต่ผมเชื่อว่าเพียงแค่นี้ก็สามารถแก้ปัญหาส่วนใหญ่ที่เราเจอกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว

🤔 อะไรบ้างที่ใช้ Agile?

อย่างที่บอกว่า Agile เป็นแค่หลักในการคิดเท่านั้น ดังนั้นมันเลยมีรูปแบบในการบริหารจัดการหลายตัวเลยที่เอาหลักการนี้ไปใช้ เช่น Scrum, Extreme Programming (XP), Lean & Kanban บลาๆ ซึ่งแต่ละตัวเป็นยังไงบ้างเดี๋ยวเราค่อยไปลงรายละเอียดกันอีกที

🤔 หลักปฏิบัติ 12 ข้อมีไรบ้าง?

ตอนแรกว่าจะไม่เอามาลงละ เพราะไม่งั้นบทความนี้จะออกมาเป็หนังสือวิชาการเลยซึ่งน่าเบื่อมาก ดังนั้นผมเลยขอให้ไปอ่านเองจากลิงค์นี้ละกัน ภาษาอังกฤษ กับ ภาษาไทย เลือกอ่านเอาเองละกัน

🧭 เนื้อหาของคอร์สทั้งหมด

สิ่งที่จะได้จากคอร์สนี้คือ เข้าใจว่า Agile คืออะไร ส่วนหลักในการทำ agile นั้นส่วนใหญ่ในไทยเราจะดังในเรื่องของ Scrum (สกรัม: สะ-กรัม อย่ามาอ่านว่า สก-รัม ให้ผมได้ยินนะผมจะกลั้นหัวเรอะไว้ไม่อยู่) ดังนั้นเดี๋ยวเราจะมาลองดูกันว่าแต่ละพิธีกรรมของเขามีอะไรบ้าง และหัวใจหลักจริงๆในแต่ละพิธีกรรมมันมีอะไรบ้าง

คอร์สนี้กำลังค่อยๆเขียนอยู่ ซึ่งถ้าเขียนเสร็จก็จะเอามาลงไว้ในหน้านี้แหละ ถ้าไม่อยากพลาดอัพเดท ก็ไปกดติดตามได้จากลิงค์นี้เบย Saladpuk Facebook

ลำดับเรื่องที่จะเล่าแบบคร่าวๆ

pageAgile in a NutshellpageSoftware Development Life CyclepageCode Review
  • Scrum คืออะไร? และมันจะช่วยเราได้ยังไงในภาพรวม

  • แต่ละ Sprint เขาทำอะไรบ้าง

  • หน้าที่และบทบาทของ Scrum มีอะไร? และต้องทำไรบ้าง?

  • มันเยอะมากเดี๋ยวค่อยว่ากันคิดอะไรออกเดี๋ยวเอามาเขียนไว้ตรงนี้ละกัน

🎯 บทสรุป

Agile คือหลักในการบริหารจัดการ ที่สามารถเอาไปใช้กับอะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นซอฟต์แวร์อย่างเดียวเท่านั้น โดยมันมีหัวใจหลักคืออการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยตั้งอยู่บทเหตุและผลที่เป็นข้อเท็จจริง เพื่อให้แต่ละฝ่ายช่วยกันหาทางออกที่ดีที่สุดให้กันและกัน ซึ่งในวงการซอฟต์แวร์นั้นมีการนำหลักนี้ไปปรับใช้เป็นวิธีการของตัวเองอยู่หลายตัว และของที่ได้จากการทำ agile โดยรวมแล้วมีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะทีมจะไม่ติดหนี้ในหลายๆเรื่อง และสร้างความเชื่อใจให้กับทุกฝ่ายนั่นเอง

Last updated