คลาว์คิดเงินยังไง ?

แพงป่าว ค้างจ่ายได้ป่ะ มีส่วนลดไหม คิดเงินทุกเดือนไหม

ไม่กล้าใช้คลาว์เพราะกลัวจ่ายแพง!! คือประโยคที่ได้ยินบ่อยม๊วกจากคนที่เริ่มเล่นคลาว์ใหม่ๆ ดังนั้นในรอบนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า เวลาที่เราจะไปสร้างอะไรบนคลาว์ซักอย่างนึง เราต้องเตรียมจ่ายเดือนละประมาณเท่าไหร่กัน

🤔 ดูยังไงว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ?

เราสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายของเราได้หลายแบบครับ ซึ่งแบบที่ง่ายที่สุดคือการคำนวณแบบรวมๆ ซึ่งสามารถทำตามขั้นตอนด้านล่างได้เลย

1.เข้าไปที่เว็บ https://azure.com แล้วกดที่เมนู Pricing เบย

2.ในหน้าถัดมาเราจะเห็นวิธีการคำนวณเงินหลายๆแบบ ซึ่งตัวที่ผมชอบที่สุดคือแบบ Pricing Calculator ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่พึ่งหัดเริ่มต้นใช้คลาว์ใหม่ๆครับ ดังนั้นจิ้มมันลงไปซะ หรือกดจากลิงค์นี้เลยได้

https://azure.microsoft.com/en-us/pricing/calculator/

3.ในตัว Pricing Calculator เขาจะมีให้เราเลือกตัว Services ต่างๆที่เราจะใช้งาน แยกตามหมวดหมู่ด้านซ้ายมือ

4.สมมุติว่าผมอยากได้เว็บซัก 1 ตัวละกัน ผมก็จะกดจิ้ม App Service ลงไปอย่างแผ่วเบาครับ

5.ถัดมาเลื่อนลงมาด้านล่างๆ เราก็จะเห็นตัวเว็บที่เขาเพิ่มให้เราแล้วนะครับ ซึ่งของที่โชว์มาเราจะต้องทำการกำหนดค่าต่างๆให้ตรงตามที่เราจะใช้งานจริงๆนะครับ

การตั้งค่า สมมุติว่าเว็บที่ผมจะสร้างนี้จะให้คนไทยใช้ และคนใช้ก็ไม่ได้เยอะอะไรมากมาย ดังนั้นอาจจะใช้แค่ตัวฟรีก็เพียงพอ ผมก็จะเลือกตามรูปด้านล่างนี้ครับ ส่วนราคาก็จะโชว์อยู่ด้านล่างสุดว่าตอนสิ้นเดือนเขาจะเก็บเงินเราเท่าไหร่

ชื่อ

ความหมาย

Region

โซนของเว็บที่เราจะใช้

Operating System

ตัว OS ที่จะใช้

Tier

ระดับของเซิฟเวอร์ที่จะใช้

Instance

ความแรงของเซิฟเวอร์

Time

เวลาที่เราจะเปิดใช้งานเซิฟเวอร์ 1 x 730 hours คือเปิดเครื่องมันทั้งวันทั้งคืนตลอดเดือนเลย

Tier ในตัว Microsoft Azure จะมีระดับของเซิฟเวอร์ให้เราเลือกเล่นอยู่ 4 ระดับตามด้านล่างนี้

  • Free สำหรับต้องการลองเล่น ไม่แหมาะเป็น production มีระยะเวลาในการทำงานจำกัด

  • Shared สำหรับทดสอบโดยสามารถเปลี่ยนชื่อเว็บได้ และเป็นการไปใช้งานร่วมกับคนอื่น

  • Basic สำหรับไม่มีคนใช้งานเยอะ และทำเรื่อง auto scale กับ traffic management ไม่ได้

  • Standard สำหรับ production

  • Premium สำหรับ production ที่ต้องการเน้นการรับโหลดแบบหนักหน่วง

การเก็บเงิน การเรียกเก็บเงินของคลาว์จะเป็นรูปแบบเก็บตามการใช้งานจริงนะครับ สมุติว่าผมเลือกเว็บที่ต้องจ่ายเดือนละ 3,000 บาท แต่ผมเปิดเว็บนี้มาใช้แค่ 5 วันแล้วก็ลบทิ้ง พอถึงสิ้นเดือนเขาก็จะเก็บเงินผมแค่ 500 บาทเท่านั้นครับ

🤔 มีรูปแบบอื่นให้ลองเล่นอีกไหม ?

Pricing Calculator

ในตัว Pricing Calculator ยังมีให้เล่นอีกเยอะเลยครับ เช่น Tab ด้านบนก็จะมีตัว Example Scenarios ซึ่งจะเป็นตัวอย่างการใช้งาน ลองกดเข้าไปดูได้ครับ

เขาจะมีตัวอย่างการใช้งานว่าเราต้องใช้ services อะไรบ้าง เช่นตัวที่ผมเลือกคือเอาไว้ทำ DevOps ซึ่งก็จะมีตั้งแต่การ commit source code ไปเข้า Repository แล้วเอาไป Build (CI) ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วเอาไป Release (CD) ขึ้นเว็บให้เรา พร้อมกับมีตัววิเคราะห์การทำงานของแอพเราให้ด้วย ถ้าชอบก็ลองกดปุ่ม Add to estimate เล่นได้ครับ

Subscriptions

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ในตัว Azure เราสามารถเลือกรูปแบบการจ่ายเงินแบบอื่นได้ด้วยจากลิงค์ด้านล่างนี้

https://account.azure.com/subscriptions

เมื่อเข้ามาแล้วจะเห็น subscriptions ต่างๆของเรา ซึ่งจะมีให้เราเลือกรูปแบบการจ่ายเงินด้วย ดังนั้นลองจิ้มเข้าไปเลย + add subscription

ถัดไปก็แค่เลือกรูปแบบที่เราชอบ ซึ่งดูรายละเอียดแต่ละแบบได้จากปุ่ม Learn more เลยครับ

Resource costs

เมื่อเราอยากตรวจสอบว่าตอนนี้ค่าใช้จ่ายปัจจุบันเป็นเท่าไหร่แล้ว เราก็สามารถดูได้เมนูด้านซ้ายสุดที่ชื่อว่า Cost Management + Billing ได้ด้วยนะ พอกดเข้าไปก็เลือก subscription ที่อยากดูรายละเอียด

ส่วนภายในเขาก็จะแจงว่าเรามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โดยแยกเป็นเรื่องๆให้เราดู พร้อมประเมินแบบคร่าวๆว่าถ้ายังใช้แบบนี้ไปเรื่อยๆตอนสิ้นเดือนจะต้องจ่ายเท่าไหร่ให้ด้วยนะ และในหน้านี้จะมีปุ่ม Manage ให้เราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ต่อด้วยถ้าสนใจก็ลองกดเข้าไปดูละกันนะ

ขออภัยด้วย ผมไม่สามารถเปิดเผย subscription ตัวที่มีค่าใช้จ่ายให้ดูได้เลยขอเอาตัวนี้ให้ดูไปละกัน แต่ตัวนี้ผมใช้มาเป็นปีแล้วนะเปิด Saladpuk เล่นนี่แหละไม่แทบไม่เคยจ่ายเงินเลย เพราะใช้แต่ตัวฟรีเล่นใน subscription นี้ 🤪

ยกเลิก subscription ถ้าเรารู้สึกว่ามีหลายๆอย่างที่เราไม่รู้ว่ามันชาร์จเงินมาจากไหน ไล่ปิดนั่นนู่นนี่แล้วแต่มันก็ยังเก็บเงินเราเรื่อยๆไม่หยุดเลย เราก็สามารถกด Cancel subscription กับทาง Microsoft ได้เหมือนกันนะ ซึ่งมันก็จะทำให้ services ทั้งหมดใน subscription นั้นๆหยุดทำงานชั่วคราว จนกว่าจะเราไปกำหนด subscription ให้มันใหม่ครับ

ในหน้า Manage เขาก็จะทำการแจกแจงแบบละเอียดยิบเลยว่าเราไปใช้บริการอะไรเขาบ้าง แต่ละตัวใช้นานกี่นาที ใช้ข้อมูลไปเท่าไหร่ บลาๆ และหมัดเด็ดในหน้านี้อีกตัวคือตัว ALERTS ครับ ลองจิ้มเข้าไปดูกัน

ซึ่งเจ้า ALERTS เข้าก็จะให้เราตั้งข้อความแจ้งเตือนเมื่อยอดการใช้จ่ายถึงจุดที่เรากำหนดแล้วได้ ลองกด + add alert เล่นดูตามได้นะ

ชื่อ

ความหมาย

Alert Name

ชื่อการแจ้งเตือน

Amount Spent

แจ้งเตือนเมื่อค่าใช้จ่ายถึงเท่านี้

Email Recipient 1

อีเมล์ที่จะให้ส่งการแจ้งเตือนนี้ สามารถใส่ได้ 2 อีเมล์นะ

🎥 วีดีโอเสริมความเข้าใจในการเล่น Pricing Calculator

🎯 บทสรุป

รูปแบบการเก็บเงินของคลาวมีหลายวิธี จ่ายรายเดือนตามที่เราใช้จริง เหมาจ่าย อะไรพวกนี้ ซึ่งเราต้องดูตามความเหมาะสมของงานของเราก่อนแล้วค่อยเลือกว่าจะใช้แบบไหนถึงจะคุ้มที่สุด และที่สำคัญคือเราควรจะใช้ services ที่อยู่บนคลาว์ให้เป็นและใช้ให้ถูกวิธีด้วย ถึงจะใช้ประสิทธิภาพมันได้เต็มศักยภาพ ไม่งั้นก็เหมือนมีรถปอร์เช่แต่เราเอามาวิ่ง 40 ในถนนลูกรังไรงี้ เปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ #การใช้งานคลาว์ก็เช่นกัน

Last updated